เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า เหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา อธิบายว่า ไฟเมื่อไหม้เชื้อ
คือหญ้าและไม้ ไป ไม่กลับมา ฉันใด กิเลสเหล่าใดพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้
แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค ท่านไม่มา คือ ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้ว
ด้วยอนาคามิมรรค กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้วด้วยอรหัตตมรรค ท่านก็ไม่มา คือ
ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เหมือนไฟ
ไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[149] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คุ้มครองอินทรีย์
รักษาใจได้แล้ว ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (9)

ว่าด้วยผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
คำว่า เป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ เป็นผู้ประกอบด้วย
ความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า “รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย” จึงเป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน หรือการเที่ยวไปไม่มีจุดหมาย
แน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :472 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีก
นครหนึ่ง จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบท(ประเทศ)หนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง
เพื่อดูรูป ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนไม่สำรวม เดินมองช้าง
มองม้า มองรถ มองพลเดินเท้า มองเด็กชาย มองเด็กหญิง มองสตรี มองบุรุษ มอง
ร้านตลาด มองหน้ามุขเรือน มองข้างบน มองข้างล่าง มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้รวบถือ เป็นผู้แยกถือ (อวัยวะส่วน
ต่างๆ) ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาป-
อกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมไม่ถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้
เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว
ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง
การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี
การเล่นตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล
การเล่นกระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ
การแข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา
การรำกระบี่กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม
การจัดกระบวนทัพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ ไม่ประกอบด้วย
ความเป็นผู้มีตาลอกแลกด้วยคิดว่า “รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย” จึงไม่เป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน หรือการเที่ยวไปไม่มีจุดหมาย
แน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :473 }